การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในผู้สูงอายุ
การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในผู้สูงอายุ
ผศ.นพ.วิรุณ บุญนุช
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มะเร็งของลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย ยิ่งอายุมากขึ้น อุบัติการณ์ก็มากขึ้นตามไปด้วย สาเหตุเข้าใจว่าเกิดจาก การรับประทานอาหารเนื้อสัตว์มากเกินไป การมีติ่งเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ผนังลำไส้ซึ่งในภายหลังจะกลายเป็นมะเร็งของลำไส้ได้ หรือการมีประวัติของมะเร็งลำไส้ในครอบครัวซึ่งอุบัติการณ์สูงกว่าคนปกติถึง 3 เท่า
อาการของผู้ป่วยมะเร็งทวารหนัก คือ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระ ลำอุจจาระเล็กลง ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเดิน ถ้าก้อนมะเร็งโตขึ้นจนอุดตันลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้อุดตัน คือปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระและไม่ผายลม บางรายผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องมีก้อนในท้อง
การตรวจทางทวารหนักจะบอกว่ามีเนื้องอกในทวารหนักได้ การตรวจอุจจาระหาเม็ดเลือดแดง การส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ใหญ่ จะบอกถึงพยาธิสภาพที่มีอยู่ได้ จากนั้น แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจด้วยการเอ็กซเรย์สวนแป้งทางทวารหนัก ก็สามารถจะบอกถึงพยาธิสภาพในลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้
เมื่อได้ผลการตรวจว่าเป็นมะเร็งของทวารหนัก-ลำไส้ใหญ่ ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดรักษาได้ โดยการผ่าตัดเปิดช่องท้องแล้วตัดเนื้อมะเร็งของลำไส้และทวารหนักออก จากนั้นก็จะทำการต่อลำไส้ใหม่ ในกรณีที่มะเร็งใกล้ปากรูทวารหนัก การทำผ่าตัดคือ ตัดมะเร็งและทวารหนักออกทิ้งไป แล้วนำลำไส้ส่วนที่เหลือมาไว้ที่ผนังหน้าท้อง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องขับถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องตลอดไป
ภายหลังการผ่าตัดรักษาเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องมารับการรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด มีบางรายต้องมารับการรักษาด้วยการฉายแสงต่ออีกเพื่อหวังผลการรักษาให้ได้ผลดีที่สุด ในผู้ป่วยที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ก็จะให้การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
เนื่องด้วยมะเร็งของทวารหนักและลำไส้ใหญ่สามารถจะตรวจได้ด้วยการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระและการส่องกล้องตรวจทางทวารหนัก เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งก็สามารถจะให้การรักษาได้ผลดีจนโรคหายขาดได้
ปล. เพื่อเป็นความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก